ฟิตหุ่นให้เฟิร์มด้วย 3 เทคนิคการทำ HIIT แบบจัดเต็ม

สำหรับใครที่กำลังหาทางขจัดไขมันตัว หรือดูแลตัวเองให้แข็งแรงขึ้น แต่ไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย “HIIT” หรือ High-Intensity Interval training คงเป็นคำตอบที่ดีสำหรับใครหลายคนทีเดียว ด้วยกระแสผลลัพธ์ที่ดีตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ HIIT กลายเป็นวิธียอดฮิตที่เหล่านักเพาะกายใช้ Fit & Firm หุ่นให้ดูดีอยู่เป็นประจำ อย่างไรก็ดี หลายคนอาจประสบปัญหาไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี และวิธีไหนบ้างที่เรียกว่าการทำ HIIT จริง ๆ วันนี้ Homefittools ได้รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง จนสรุปเป็น 3 เทคนิคดี ๆ ที่สามารถไปปรับใช้กับการออกกำลังกายมาฝากกันครับ

HIIT คืออะไร
หากอธิบายให้เข้าใจง่าย HIIT คือรูปแบบการออกกำลังกายอย่างหนักสลับกับช่วงที่ต้องออกแรง เบาในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 10 – 30 นาที เพื่อเร่งอัตราการเผาผลาญไขมันหลังออกกำลังกายให้ยาวนานถึง 48 ชั่วโมงทีเดียว อย่างไรก็ตาม สัดส่วนเวลาสลับหนักเบาขึ้นอยู่กับสมรรถภาพทางกายของแต่ละคน ซึ่งแปรผันไปตามรูปแบบกิจกรรมที่เลือก

Running
การวิ่งเป็นด่านแรกที่แทบทุกคนสามารถทำ HIIT กันได้ง่าย ๆ เพียงแค่มีลู่วิ่งและสถานที่ซึ่งมีพื้นที่กว้างพอจะให้สามารถออกกำลังขาก็เป็นอันใช้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าแตกต่างจากการวิ่งคาร์ดิโอปรกติที่ใช้เวลาเป็นชั่วโมง เนื่องจากการวิ่งแบบ HIIT จะใช้ระยะเวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น

การวิ่ง Outdoor
หากคุณพอมีเวลา และอาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ Outdoor อย่างสวนสาธารณะ หรือสถานที่ซึ่งมีทางลาดชัน ก็ถือว่าตอบโจทย์อย่างดี เพราะนอกจากจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดแล้ว ยังช่วยคุณผ่อนคลายจากการได้เปิดหูเปิดตากับสิ่งแวดล้อมและผู้คนได้เป็นอย่างดี และแน่นอนว่า ‘สภาพแวดล้อม’ เป็นตัวกำหนดรูปแบบการวิ่งของเรา ซึ่งสูตรการวิ่งโดยทั่วไปที่นิยมใช้มีทั้งหมด 3 แบบ ได้แก่

แบบที่ 1 : วิ่งด้วยอัตราส่วน 1 : 3 โดยเน้นวิ่งเร็ว 15 วินาที สลับกับวิ่งช้า 45 วินาที จนครบ 5 – 10 นาที ซึ่งเหมาะอย่างมากสำหรับมือใหม่ที่พึ่งหัดทำ

แบบที่ 2 : วิ่งด้วยอัตราส่วน 1 : 2 โดยเน้นวิ่งเร็ว 15 วินาที สลับกับวิ่งช้า 30 วินาที จนครบ 5 – 10 นาที ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มความเข้มข้นของการออกกำลังกาย

แบบที่ 3 : วิ่งด้วยอัตราส่วน 1 : 1 โดยเน้นวิ่งเร็ว 30 วินาที สลับกับวิ่งช้า 30 วินาที จนครบ 5 – 10 นาที ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ทำ HIIT จนชำนาญแล้ว

การวิ่งบนลู่ (Treadmill)
ข้อได้เปรียบที่ตามมาหากเราเลือกจะเดินหรือวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้า ก็คือ อิสระในการปรับรูปแบบการวิ่งได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็น Speed และความชัน (Incline) ในการวิ่ง ล้วนแล้วช่วยเราควบคุมระดับการวิ่งเป็นตัวเลขได้ชัดเจน ไร้กังวลเรื่องเผลอผ่อนแรงระหว่างใช้แรง อย่างไรก็ตาม รูปแบบเทคนิคการทำ HIIT บนลู่วิ่งก็เป็นเทคนิคหรือโปรแกรมของแต่ละที่ โดยเข้าไปอ่านบทความครั้งก่อนที่เราเขียนเกี่ยวกับ โปรแกรมลดน้ำหนักใน 30 วัน ด้วย “ลู่วิ่งไฟฟ้า” ทำได้จริง! ตามลิ้งก์นี้ได้เลยครับ

HIIT Cardio with Cycle
HIIT Cardio ด้วยจักรยานออกกำลังกาย คงเป็นหนึ่งในตัวอย่างการทำคาร์ดิโอที่ทำให้เห็นภาพชัดเจน ซึ่งการปั่นจักรยานให้ได้ผลนั้น จะต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกจักรยานให้เหมาะสมกับสรีระและช่วงวัย รูปแบบการปั่น ระยะเวลาที่ใช้ อาหารที่รับประทานเข้าไป และวิธีการ Cool down หลังการออกกำลัง ล้วนแล้วส่งผลที่เกิดขึ้นกับร่างกายทั้งสิ้น และเช่นเคยสำหรับใครที่อยากรู้รายละเอียดเพิ่ม ทางเราได้เขียนรวมไว้ใน 5 เทคนิคปั่นจักรยานออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก กระชับสัดส่วน ซึ่งสามารถเข้าไปอ่านย้อนหลังได้เลยครับ

HIIT Cardio with Elliptical
เครื่องเดินวงรีเป็นอุปกรณ์คาร์ดิโอที่ยอดเยี่ยม แต่บางครั้งการออกกำลังกายอาจรู้สึกจำเจ การฝึกแบบ HIIT (High-Intensity Interval Training) จะเพิ่มความเข้มข้นให้กับการออกกำลังกายบนเครื่องเดินวงรีของคุณ ช่วยให้เผาผลาญแคลอรี่ได้มากขึ้นและเพิ่มสมรรถภาพโดยรวม มาดูวิธีสร้างการออกกำลังกายแบบ HIIT Cardio กับเครื่องเดินวงรีของคุณกัน

  • วอร์มอัพ (5 นาที):
  • เริ่มต้นด้วยการเดินช้าๆ บนเครื่องเดินวงรีเป็นเวลา 5 นาที
  • ปรับความต้านทานให้อยู่ในระดับปานกลาง
  • โฟกัสไปที่การหายใจและการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างเป็นธรรมชาติ
  • ช่วง HIIT (20 นาที):
  • สลับระหว่างช่วงความเข้มข้นสูงและความเข้มข้นต่ำ
  • ช่วงความเข้มข้นสูง: ออกแรงเต็มที่เป็นเวลา 30 วินาที
  • ช่วงความเข้มข้นต่ำ: เดินช้าๆ เป็นเวลา 30 วินาที
  • ทำซ้ำ 8 รอบ (รวม 16 นาที)
  • เพิ่มความยากโดยเพิ่มระยะเวลาของช่วงความเข้มข้นสูงหรือลดระยะเวลาของช่วงความเข้มข้นต่ำ
  • คูลดาวน์ (5 นาที):
  • ลดความเร็วลงอย่างช้าๆ เป็นเวลา 5 นาที
  • ยืดกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกาย
  • ตัวอย่างการออกกำลังกาย HIIT Cardio กับเครื่องเดินวงรี
  • ช่วงความเข้มข้นสูง: การเร่งความเร็วสูงสุด เกร็งกล้ามเนื้อท้อง กดเท้าลงบนแป้นเหยียบอย่างแรง
  • ช่วงความเข้มข้นต่ำ: เดินช้าๆ บนเครื่องเดินวงรี ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ


HIIT with weight
การทำ HIIT ด้วยการเล่น Body Weight ก็เป็นวิธีหนึ่งที่หลายคนเริ่มทำกันได้ง่าย เพียงแค่คุณมีดัมเบล และบาร์เบล พร้อมสำหรับใช้ประกอบท่า ก็สามารถทำได้ทั้งจากในบ้านและยิมภายใน 15 นาที ด้วย 14 ท่า HIIT Dumbbell workout ซึ่งสามารถจัดเป็นตารางเรียงตามท่าตามนี้เลยครับ

ทั้งนี้สำหรับใครที่กำลังมองหาซื้อดัมเบล และไม่รู้ว่าควรจะเลือกแบบไหนดีให้เหมาะกับการใช้งาน สามารถวิธีเลือกซื้อดัมเบล ได้จากที่นี่ได้เลยครับ

1.Close-Grip Chest Press (30 วินาที)

ประเดิมด้วยการนอนหงายลงบนเบาะและวางเท้าทั้งสองข้างวางแนบสนิทกับพื้น จากนั้นนำมือทั้งสองข้างประสานกันไว้ใต้ด้านใดด้านหนึ่งของดัมเบล และจึงเริ่มยกขึ้นเหนือหน้าอก โดยเหยียดแขนจนเกือบตึง (ทั้งนี้ไม่ล็อคข้อศอกและปิดมุมข้อศอกเข้าหาลำตัว) ก่อนกลับสู่ท่าเตรียม

2.Close-Grip Chest Press with Crunch (45 วินาที)

สำหรับท่านี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับท่าแรกแทบทุกอย่าง ทว่าเพิ่มเติมท่า Crunch ต่อจากการทำ Close-Grip Chest Press แบบธรรมดาลงไป โดยทำสองท่าควบคู่กันเป็นเซ็ตละ 3 ครั้งต่อเนื่องกันจนครบเวลา

3.Close-Grip Chest Press with Crunch and Leg Lowers (75 วินาที)

ต่อมาเป็นท่าเล่นอกที่เล่นผสมกับท่า Crunch โดยนอนราบยกขาขึ้นกลางอากาศในลักษณะตั้งฉาก 90 องศากับพื้น จากนั้นจึงเริ่มใช้มือทั้งสองข้างถือดัมเบลและเริ่มยกขึ้นลงจำนวน 3 ครั้ง จนเมื่อถึงครั้งที่สามให้อยู่ในท่ายกค้างไว้ และสลับไปเป็นท่าครันช์และปิดจบด้วยการยกขาที่ตั้งฉากขึ้นลงให้จังท้องส่วนล่างคราวละ 3 ครั้ง

4.Squat Hold (45 วินาที)

หลังจากเสร็จช่วงเบรก ให้คุณทำท่า Squat ด้วยการเริ่มกางขาทั้งสองข้างให้มีระยะห่างเท่าช่วงไหล่ จากนั้นย่อเข่าลงขณะที่หลังยังตั้งตรง เกร็งหน้าท้องไว้และยื่นแขนทั้งสองข้างมาประสานไว้ข้างหน้าเพื่อทรงตัว และย่อลงไปให้ได้มุมเข่า 90 องศาค้างไว้ให้ได้ 45 วินาทีเป็นอันจบ 1 เซ็ต

5.Renegade Rows (30 วินาที)

หากพูดถึงท่ายากที่ใครต่อใครยกว่ากว่าจะทำได้ต้องใช้เวลานานพอสมควรก็คงไม่พ้น Renegade Rows เพราะนอกจากต้องใช้ความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อจากหลายส่วนคอยพยุงร่างไว้แล้ว ยังต้องอาศัยความอึดทนที่มากพอจนครบเวลาอีกด้วย ท่านี้เริ่มต้นด้วยการถือดัมเบลกับพื้นในตำแหน่งเดียวกับหัวไหล่ จากนั้นดึงดัมเบลอีกข้างขึ้นมาตรง ๆ จนถึงระดับราวนม โดยที่แขนอีกข้างคอยค้ำยันน้ำหนักตัวส่วนบนของเราไว้ ค้างไว้กระทั่งกลับสู่ท่าเริ่มต้น เมื่อรวมท่ากันแล้วจึงมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับท่าวิดพื้น ซึ่งท่านี้สามารถทำสลับข้างไปมาได้จนครบ 30 วินาที

6.Weighted Walkout to Renegade Row (45 วินาที)

ท่านี้จัดว่าเป็นขั้นกว่าที่ต่อยอดมาจากท่า Renegade Row แบบปรกติ ซึ่งสิ่งที่เพิ่มเข้ามาขึ้นการยกดัมเบลสลับซ้ายขวา 3 ครั้ง สลับกับการยกดัมเบลเข้าหาตัวคล้ายกับลักษณะการเดินสลับซ้ายขวาจนสิ้นสุดที่ปลายเท้า ก่อนชันตัวลุกขึ้นยืนและเดินดัมเบลซ้ายขวาเพื่อกลับสู่ท่าเตรียมอีกครั้ง

7.Weighted Walkout to Renegade Row to Knee Raise and Twist (75 วินาที)

เป็นอีกท่าที่มีลักษณะการตั้งท่าคล้ายกับ Renegade Row ทว่าแตกต่างเล็กน้อยตรงที่เพิ่มอีกท่าหนึ่งเข้าไป นั่นก็คือการทำ Twist ในท่ายืนนั่นเอง ซึ่งเริ่มแยกขาให้ห่างจากกันเล็กน้อย โดยสองมือยกประสานไว้ที่หลังศีรษะจากนั้นย่อตัวลงคล้ายเวลาที่เราทำท่าสควอทช์ ยืดตัวขึ้นพร้อมกับยกขาขวาขึ้นด้านข้าง เอียงตัวไปทางขวาเล็กน้อยให้ศอกขวาแตะกับเข่า กลับสู่ท่าเริ่มต้น

8.Dumbbell Over-the-Shoulder Chops (30 วินาที)

ตัดมาที่ท่า Over-the-Shoulder Chops หรือท่าสับไหล่ของเรากันครับ ด้วยการนำมือทั้งสองข้างประสานกับดัมเบลเพียงชิ้นเดียว และให้ยกขึ้นให้ถึงระดับไหล่ โดยไล่ไปทางซ้ายหรือขวาก่อนก็ได้จนครบระยะเซ็ต

9.Squat and Over-the-Shoulder Chops (45 วินาที)

มาถึงท่าซึ่งเป็นขั้นกว่าของ Over-the-Shoulder Chops โดยเริ่มทำท่า Chop แบบเบา ๆ เช่นเดิม ด้วยการนำมือทั้งสองข้างประสานเข้ากับดัมเบลเพียงชิ้นเดียว และให้ยกขึ้นให้ถึงระดับไหล่ โดยไล่ไปทางซ้ายหรือขวาก่อนก็ได้ โดยทำสลับกันอย่างน้อย 4 ครั้ง ก่อนทำท่าสควอทโดยลดมืดัมเบลที่ถืออยู่ให้ลงจนแนบพื้น 1 ครั้ง ก่อนวนกลับไปสู่ท่า Chop

10.Squat Thrust and Over-the-Shoulder Chops (75 วินาที)

ปิดท้ายด้วยท่าขั้นสุดตลอดทั้งโปรแกรมด้วยการรวมท่าช็อป สควอทธรรมดาและท่า Squat Thrust จำนวน 4 ครั้งเข้าด้วยกัน และทำย้อนกลับวนซ้ำก็เป็นอันครบสูตรการทำ HIIT with weight แล้วครับ

ข้อควรระวัง

แม้การออกกำลังกายแบบ HIIT จะมีข้อดีมากมาย แถมช่วยประหยัดเวลาชีวิตไปได้เยอะก็ตาม ทว่าก็มีข้อควรระวังบางประการด้วยกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ครับ

  1. การออกกำลังกายด้วย HIIT อาจไม่เหมาะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะกับ
  • ผู้เป็นโรคหัวใจ โรคความดันเลือดสูง โรคเบาหวานที่คุมน้ำตาลในเลือดไม่ได้ และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบ เป็นต้น
  • ผู้มีปัญหาข้อต่อและเส้นเอ็น โดยเฉพาะบริเวณหัวเข่าและไหล่ ซึ่งหากเป็นไปได้ควรบริหารร่างกายด้วยท่าอื่นที่ไม่จังกับข้อต่อ
  • ผู้ที่กำลังตั้งท้องอยู่
  • ทั้งนี้ต้องปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายควบคู่กัน เพื่อหาเลือกวิธีออกกำลังที่เหมาะสมกับร่างกาย
  1. ไม่ควรออกกำลังกายด้วยวิธีนี้เกิน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากช่วงหลังทำ HIIT ครั้งล่าสุดนับไป 48 ชั่วโมง ร่างกายกำลังอยู่ในช่วงซ่อมแซ่มและฟื้นตัว จึงไม่เหมาะอย่างยิ่งหากทำซ้ำในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะอาจส่งผลต่ออาการบาดเจ็บอื่นที่ตามมา เช่น กล้ามเนื้อฉีก เป็นต้น
  2. งดเครื่องดื่มที่มีสารกระตุ้นการเผาผลาญอย่างกาแฟหรือชาเขียว เพราะอาจเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันเลือดที่สูงเกินกว่าที่ร่างกายรับไหวในระหว่างออกกำลัง
  3. หลีกเลี่ยงการเข้าห้อง Sauna หลังการทำ HIIT เพราะอาจส่งผลต่ออาการหน้ามืดและหมดสติ อีกทั้งทำให้ร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมฟื้นฟูตัวเองเท่าที่ควร

ที่มา : homefittools.com

ติดตามเรา

spot_img

Related Articles

PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com