Home เทรนนิ่ง คาดิโอ กระโดดอย่างไรได้สุขภาพ ไม่ต้องง้อฟิตเนสด้วย

กระโดดอย่างไรได้สุขภาพ ไม่ต้องง้อฟิตเนสด้วย

fitness, sport, people, exercising and lifestyle concept - happy man and woman jumping outdoors

กระโดดโลดเต้นเป็นสิ่งเด็ก ๆ ชื่นชอบมากเพราะทำแล้วสนุก แต่ถ้าเป็นคนโตแล้วอย่างเรา ๆ จะให้ไปกระโดดโลดเต้นเหมือนเด็ก ๆ เขาก็คงดูไม่งามใช่ไหม เอาน่า ! ต่อนี้ไปอย่าได้แคร์เลย เพราะการกระโดดแบบเด็ก ๆ นี่แหละที่ทำให้เราหุ่นดีขึ้นได้

เมื่อพูดถึงการออกกำลังกายหลายคนคงนึกไปถึงการเล่นกีฬาประเภทต่าง ๆ การสมัครสมาชิกฟิตเนส แถมยังต้องลงทุนซื้อชุดกีฬาและอุปกรณ์กีฬาให้เปลืองเงินเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก ก็คงไม่แปลกเลยถ้าสิ่งเหล่านี้พาลให้ไม่อยากไปออกกำลังกายแล้ว ซึ่งจากข้อมูลในเว็บไซต์ Huffingtonpost.com บอกว่า หากใครไม่ชอบออกกำลังกายแต่อยากสุขภาพดีก็ลองใช้วิธีการกระโดดดู เพราะการกระโดดเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนอะไรเลย แต่ก็สามารถทำให้สุขภาพกายใจแข็งแรงได้ไม่แพ้วิธีออกกำลังกายอื่น ๆ หากใครเริ่มอยากรู้แล้วว่าเป็นเพราะอะไร ลองอ่านดูเลยจ้า

5 เหตุผลดี ๆ ที่การกระโดดทำให้เราแข็งแรงขึ้น

1.เป็นการบริหารร่างกายทุกส่วนเหมือนกับการว่ายน้ำที่ต้องใช้กำลังขาและแขนในการเคลื่อนไหว

2.เป็นการกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจทำให้เลือดลมสูบฉีดไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้เป็นปกติ

3.เป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกจึงช่วยลดอัตราความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนได้

4.ช่วยลดพุงได้ เพราะในขณะกระโดดเราสามารถควบคุมลมหายใจเข้า-ออกได้เพื่อเกร็งหน้าท้อง อีกทั้งการกระโดดยังช่วยเผาผลาญแคลอรีได้มากกว่าการเดินถึง 2 เท่าเชียวนะ

5.เป็นการบริหารกล้ามเนื้อครบทุกส่วน โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก และกล้ามเนื้อแผ่นหลัง ดังนั้นเราจึงมีหุ่นเฟิร์มสวยได้ไม่ยากเลย

6.เป็นการบริการร่างกายที่กระเทือนข้อต่อน้อยกว่าการวิ่ง และให้ความสนุกมากกว่าด้วย

การกระโดดยังช่วยให้จิตใจเราแจ่มใสขึ้นอีกด้วยนะ

การกระโดดช่วยกระตุ้นให้ประสาทสัมผัสการรับรู้ของเราไวขึ้น เพราะร่างกายกับสมองต้องทำงานสัมพันธ์กันขณะกระโดด นอกจากนี้แล้วยังเป็นการสร้างความบันเทิงให้ตัวเองอย่างหนึ่ง จนคุณรู้สึกสนุกกับมันจนต้องยิ้มออกมาเหมือนได้ปล่อยปล่อยความเป็นเด็กออกมาอีกครั้ง

4 ท่ากระโดดตัวอย่างที่น่าลอง

ใครที่อยากลองกระโดดบริหารกายดูบ้างแล้ว เรามี 4 ไอเดียท่ากระโดดมาฝาก และถ้าอยากใช้อุปกรณ์ช่วยเพิ่มความฟิตเช่น ดัมเบล หรือเชือกกระโดดก็สามารถนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับท่าได้ตามความพอใจเลยนะคะ

1.กระโดดแบบ Skip Jump หรือ กระโดดสลับขา คือการกระโดดโดยการก้าวขาหนึ่งไปข้าง ขาอีกข้างอยู่ข้างหลัง

2.กระโดดแบบ Jog Jump หรือ กระโดดเหยาะ ๆ คือการยืนด้วยขาชิดกัน แล้วกระโดดเหยาะ ๆ อยู่กับที่

3.กระโดดแบบ Hop Jump หรือ กระโดดข้าม ท่านี้สามารถทำได้ 2 แบบได้แก่ กระโดดข้ามด้วยขาข้างใดข้างหนึ่งก้าวไปข้างหน้า และอีกท่าหนึ่งคือ กระโดดข้ามด้วยขาคู่

4.กระโดดแบบ Jack Jump หรือ กระโดดตบมือ นี่เป็นท่ากายบริหารยอดฮิตของเด็ก ๆ ก่อนจะเริ่มเรียนวิชาพละยังไงละคะ เราก็ลองเลียนแบบเด็ก ๆ เขาได้เหมือนกัน โดยการยืนกางแขน และยืนขาชิดติดกัน แล้วกระโดดกางขาออกไปพร้อมกับยกแขนทั้งสองข้างยกขึ้นชิดกัน

เซฟร่างกายตัวเองให้ดี การกระโดดจะได้สนุกขึ้น

ก่อนการกระโดดทุกครั้ง ควรวอร์มร่างกายสักนิดอย่างน้อย 5 นาทีนะคะ จะวอร์มด้วยท่ายืดแขนยืดขาทั่วไป หรือวอร์มด้วยการซ้อมกระโดดเหยาะ ๆ ก็ได้ อย่างไรก็ตามการบริหารร่างกายด้วยวิธีนี้ไม่มีกฎข้อบังคับเหมือนการออกกำลังกายอย่างอื่นนะคะ ขอเพียงแค่รู้ข้อจำกัดร่างกายเท่านั้น ส่วนระยะเวลาการกระโดดว่าควรจะนานเท่าไร ก็ขึ้นอยู่กับร่างกายเราไหวแค่ไหน อีกสิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงก็คือ ควรสวมรองเท้ากีฬาทุกครั้งที่กระโดด และเลือกกระโดดบนพื้นถนนที่มีผิวเรียบเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ และเป็นการป้องกันการสะดุดล้มที่อาจทำให้ข้อเท้าแพลงได้

ร่างกายไม่พร้อมอย่ากระโดด

สำหรับคนที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคไขข้ออักเสบ โรคอ้วน หรือผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ และระบบหมุนเวียนโลหิต ขอแนะนำว่าควรใช้วิธีบริหารร่างกายด้วยการเดินดีกว่าการกระโดด เพราะการกระโดดเป็นการกระตุ้นให้เลือดลมสูบฉีด หัวใจเต้นเร็ว อาจทำให้เกิดอาการเหนื่อยหายใจไม่ทัน ช็อก และเป็นลมหมดสติไปได้ง่าย ๆ

เห็นไหมละคะว่า การกระโดดน่ะมีประโยชน์มาก ๆ เลย ดังนั้น ใครที่บ่นว่าไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกายทีนี้คงจะหมดข้ออ้างสักทีนะคะ เพราะแค่กระโดดอยู่กับที่เพียงแค่วันละ 10 ครั้ง อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วันก็ถือเป็นการบริหารร่างกายให้แข็งแรงขึ้นแล้ว ที่สำคัญคือจะทำตอนไหนเมื่อไรก็ได้โดยที่ไม่ต้องพกอุปกรณ์อะไรให้ยุ่งยากเลยด้วยค่ะ รู้แบบนี้แล้วลองเลย !

ที่มา : kapook.com

PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com
Exit mobile version