แมกนีเซียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย มีหน้าที่สำคัญในการควบคุมปฏิกิริยาทางเคมีหลายร้อยชนิด เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท สมอง การเผาผลาญพลังงาน และการสร้างโปรตีน ร่างกายมนุษย์มีแมกนีเซียมประมาณ 60% อยู่ในกระดูก และอีก 40% อยู่ในกล้ามเนื้อและเซลล์ของเนื้อเยื่ออ่อน แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียม ได้แก่
- พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเหลือง
- ถั่วต่างๆ เช่น อัลมอนด์ เกาลัด เม็ดมะม่วงหิมพานต์
- เมล็ดพืช เช่น ฟักทอง ทานตะวัน งา
- ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต คีนัว
- ผักใบเขียวเข้ม เช่น คะน้า ผักโขม บร็อคโคลี
ภาวะขาดแมกนีเซียม
ภาวะขาดแมกนีเซียมพบได้ไม่บ่อยในคนที่มีสุขภาพดี เนื่องจากไตสามารถควบคุมการขับแมกนีเซียมออกจากร่างกายทางปัสสาวะได้ อย่างไรก็ตาม ยาบางชนิด และภาวะสุขภาพเรื้อรัง เช่น โรคพิษสุราเรื้อรัง อาจส่งผลต่อภาวะขาดแมกนีเซียม ความต้องการแมกนีเซียมของร่างกาย ยังขึ้นอยู่กับสภาวะโรคด้วย ดังนั้น ปริมาณที่แนะนำให้ได้รับประจำวัน (RDA) ของแมกนีเซียม อาจไม่เพียงพอสำหรับบางคน
อาการเริ่มแรกของภาวะขาดแมกนีเซียม ได้แก่
- อ่อนเพลีย
- ไม่มีแรง
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้
- อาเจียน
หากไม่ได้รับการรักษา ภาวะขาดแมกนีเซียมรุนแรง อาจแสดงอาการดังต่อไปนี้
- ชา
- แสบร้อน
- ตะคริว
- ชัก
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
ที่มา : sanook.com