สุขภาพผู้หญิง เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง เมื่อวัยเข้า 30 ปี พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

ตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพผู้หญิง เมื่อวัยเข้า 30 ปี เพราะอายุมากขึ้น ร่างกายย่อมเปลี่ยนแปลงมากขึ้นตามไปด้วย พร้อมวิธีดูแลตัวเอง เช็กลิสต์โปรแกรมตรวจสุขภาพที่น่าสนใจ เปลี่ยนแปลงแค่ไหนก็รับมือได้

การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะ ความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพผู้หญิง เมื่อวัยเข้า 30 เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน อายุมากขึ้น ภาระหน้าที่ย่อมมากขึ้นตามไปด้วย ผลที่ตามมาคือความตึงเครียดในชีวิตประจำวัน ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

ผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัย 30 ปี ยิ่งต้องดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพ ความเสื่อมถอยภายในร่างกายตามกาลเวลา

ความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของผู้หญิง เมื่ออายุเข้าเลข 30 ส่งผลต่อสุขภาพ

1.สุขภาพร่างกายเจ็บป่วยง่ายขึ้น

อายุมากขึ้น แต่ภูมิคุ้มกันร่างกายกลับลดลง ผู้หญิงในวัยนี้ต้องระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน เพราะอาจเกิดความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง รวมถึงโรคต่าง ๆ ประจำฤดูกาลที่อาจปะปนมาในอากาศและมลภาวะ นอกจากนี้ต้องระวังเรื่องโรคที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง เช่น โรคมะเร็งปากมดลูก โรคซีสต์ในรังไข่ ผู้หญิงวัย 30 ขึ้นไป ควรหมั่นเช็กสุขภาพ เพื่อวางแผนการรักษาได้ทันท่วงทีกรณีที่ตรวจพบโรคร้าย

2.อัตราการเผาผลาญเริ่มน้อยลง

ตอนสาว ๆ รับประทานเท่าไรก็ไม่อ้วน ตอนอายุมากขึ้นรับประทานสลัดยังน้ำหนักขึ้น เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน ทำให้ร่างกายเบิร์นไขมันและน้ำตาลได้ยากขึ้น ส่งผลให้อ้วนง่ายขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าคุณจะรับประทานอาหารเท่าเดิมก็ตาม

3.อารมณ์อ่อนไหวกว่าเดิม

ช่วงวัยทำงานมีเรื่องให้วุ่นวายใจเยอะแยะมากมายแล้ว การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนยังทำให้อารมณ์อ่อนไหวง่ายขึ้นไปอีก อารมณ์ไม่คงที่ เหวี่ยงวีนง่าย ขี้น้อยใจ อีกทั้งยังกระวนกระวาย จนส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ เพราะนอนหลับได้ยากขึ้น ระบบความจำเริ่มมีปัญหาตามมาอีก

4.เส้นผมเริ่มหลุดร่วง

แม้ว่าเส้นผมจะเริ่มหลุดร่วงตั้งแต่วัยสาว แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงอายุประมาณ 30 ปี วงจรชีวิตเส้นผมจะเริ่มสั้นลง ผมร่วงถี่ขึ้น และไม่สามารถสร้างผมเส้นใหม่ได้ทัน ทำให้เส้นผมดูบางลง รวมถึงฮอร์โมนเอสโทรเจน (Estrogen) น้อยลง ทำให้เส้นผมมีขนาดเล็กลง แห้ง ชี้ฟู อ่อนแอ และหลุดร่วงได้ง่าย นอกจากนี้ความเครียดจากชีวิตประจำวันในวัยทำงานและการรับประทาน ยังเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้ผมร่วงง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย

5.ฮอร์โมนทางเพศลดลง

วัยเข้า 30 คุณผู้หญิงบางท่านอาจเริ่มแต่งงานมีครอบครัว แต่หากยังไม่มีลูกจะเริ่มเป็นปัญหา เพราะเพราะฮอร์โมนทางเพศเริ่มลดลง ในบางท่านอาจไม่มีความต้องการ ไม่อยากมีเพศสัมพันธ์กับคนรัก รวมถึงรังไข่ไม่แข็งแรง ส่งผลให้การตั้งครรภ์เป็นไปได้ยากขึ้น

6.ฮอร์โมนความวัยเยาว์น้อยลง

ไม่เพียงแต่ฮอร์โมนทางเพศเท่านั้น ฮอร์โมนแห่งการเจริญเติบโตอย่าง โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ที่มีความสำคัญยังผลิตน้อยลง ส่งผลต่อระบบเผาผลาญ ความยืดหยุ่นของผิว และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ร่างกายคุณเสื่อมลง เพราะเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป โกรทฮอร์โมนจะเหลือเพียง 40% เท่านั้น เมื่อเทียบกับอายุช่วงวัยรุ่น

7.สายตายาวเริ่มเข้ามาเยือน

อายุน้อยสายตาสั้น พออายุ 30 สายตายาวเริ่มเข้ามาแทน แต่บางท่านอาจประสบปัญหาสายตายาวและสายตาสั้นไปพร้อม ๆ กัน นอกจากปัญหาสายตาจะเกิดขึ้นจากอายุที่มากขึ้นแล้ว กิจวัตรประจำวันที่ใช้ชีวิตอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์และจอโทรศัพท์ ยังส่งผลให้เกิดปัญหาสายตาในระยะยาวอีกด้วย

8.มวลกระดูกเริ่มบางลง

หลายท่านอาจคิดว่า มวลกระดูกลดลงจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ผู้หญิงที่อายุเข้า 30 ปี มวลกระดูกก็ลดลงได้เช่นกัน เพราะการสะสมแคลเซียมในกระดูกจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าสู่วัยทอง หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ดูแล ไม่รับประทานอาหารที่เสริมความแข็งแรงของกระดูกและฟัน อาจเกิดโรคกระดูกพรุนตามมาได้

9.ปัญหาช่องปาก

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพยังไม่จบลงเท่านี้ เพราะปัญหาช่องปากก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงอายุ 30 ปี เพราะร่างกายจะผลิตน้ำลายได้น้อยลง เคลือบฟันบางลง อีกทั้งฟันเริ่มห่างขึ้น ทำให้เศษอาหารไปติดตามซอกฟันได้ง่ายยิ่งกว่าเดิม ส่งผลให้ฟันผุง่าย เกิดปัญหาโรคเหงือกตามมา หากไม่รักษาอย่างถูกวิธี อาจสูญเสียฟันก่อนวัยอันควรได้

10.ความอ่อนเยาว์ของใบหน้าลดลง

สิ่งที่ผู้หญิงวัย 30 ปี ต้องประสบพบเจอคือ รอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า เมื่ออายุมากขึ้นริ้วรอยจะยิ่งชัดขึ้น เริ่มจากหน้าผาก รอบดวงตา มุมปาก สารพัดจุดทั่วใบหน้า รวมถึงความหมองคล้ำที่เกิดจากฝุ่นละอองและมลภาวะ หากคุณผู้หญิงท่านใดไม่นิยมใช้สกินแคร์ หรือทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกครั้งก่อนออกแดด ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดริ้วรอยและตีนกามากขึ้นไปอีก

วิธีรับมือปัญหาสุขภาพและการดูแลตัวเอง

1.รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และครบทุกมื้อ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารแบบครบถ้วน ทั้งวิตามิน เกลือแร่ โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต

2.รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น เพราะผักผลไม้มีวิตามินและเกลือแร่ ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ช่วยปรับสมดุลเอนไซม์และฮอร์โมนในร่างกาย ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกายแข็งแรง

3.หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัด และอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม รวมถึงอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง เนื่องจากมีโซเดียมและไขมันสูง ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมา

4.พักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้เต็มอิ่ม อย่างน้อยวันละ 7 – 8 ชั่วโมง และนอนก่อน 4 ทุ่มจะดีที่สุด เนื่องจากจะได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 3 – 4 วันต่อสัปดาห์ วันละ 30 – 60 นาที อาจเลือกออกกำลังกายแบบเบา ๆ เช่น คาร์ดิโอ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ช่วยกระชับสัดส่วน เสริมสร้างกล้ามเนื้อและเพิ่มความแข็งแรงให้หัวใจ

6.ควบคุมความเครียด อย่าวิตกกังวลจนมากเกินไป อาจหลีกเลี่ยงการทำงานหนักต่อเนื่อง หรือทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเครียด พยายามหาวันหยุดเพื่อพักผ่อน และให้สมองได้หยุดพักบ้าง

7.อายุมากขึ้น ผิวหน้าย่อมมีริ้วรอย เหี่ยวเฉา และหมองคล้ำเป็นเรื่องปกติ แต่เราสามารถเลือกใช้ครีมหรือสกินแคร์ที่เหมาะสม เพื่อให้ผิวหน้าสดใส ดูอ่อนกว่าวัย เช่น ทาครีมกันแดดก่อนออกแดดเสมอ เลือกใช้สกินแคร์ที่เหมาะกับสภาพผิว หรือใช้วิตามินซี เพื่อลดเลือนจุดด่างดำ ปรับผิวให้กระจ่างใส เป็นต้น

ควรตรวจสุขภาพอะไรบ้าง

เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัย 30 ปี ร่างกายย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อตรวจเช็กร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากจะได้เช็กสมดุลฮอร์โมน ระดับน้ำตาลในเลือด และสุขภาพของเพศหญิงแล้ว ยังช่วยคัดกรองและประเมินความเสี่ยงโรคต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษากรณีตรวจพบโรคร้ายแรง โปรแกรมตรวจสุขภาพที่น่าสนใจ มีดังนี้

  • ตรวจร่างกายทั่วไป (Physical Examination) ทั้งน้ำหนัก ส่วนสูง BMI และความดันโลหิต
  • เอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray)
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC)
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด (FBS)
  • ตรวจระดับไขมันในเลือด คอเลสเตอรอล (Cholesterol)
  • ตรวจระดับไขมันในเลือด ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)
  • ตรวจระดับไขมันในเลือดชนิดดี (HDL)
  • ตรวจระดับไขมันในเลือดชนิดไม่ดี (LDL)
  • ตรวจปัสสาวะ (Urinalysis)
  • ตรวจภายในทุก 1 – 2 ปี
  • ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 3-5 ปี
  • ตรวจเต้านมโดยแพทย์ทุก 3 ปี
  • ตรวจประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
  • ตรวจสมรรถภาพการทำงานของไต (Creatinine)
  • ตรวจสมรรถภาพการทำงานของตับ (SGPT)
  • ตรวจหาความเสี่ยงโรคเกาต์ (Uric Acid)

การตรวจสุขภาพนอกจากจะช่วยประเมินความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ แล้ว ยังช่วยให้เราทราบว่า สารเคมีในเลือดเป็นอย่างไร ค่าไขมันเกินหรือไม่ หรือร่างกายขาดวิตามินตัวไหนหรือเปล่า เพราะปกติแล้วร่างกายไม่ได้แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่ากำลังขาดวิตามินตัวใด

คุณผู้หญิงวัยทำงาน สามารถเลือกรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามินได้ หากตรวจร่างกายแล้วพบว่าขาดวิตามิน เช่น วิตามินดี ช่วยเรื่องกระดูกและข้อ วิตามินบี 2 ช่วยเรื่องความแข็งแรงของเล็บและเส้นผม วิตามินเอ ช่วยเรื่องสายตา เป็นต้น โดยอาจปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อให้รับประทานได้อย่างปลอดภัยและไม่รับวิตามินมากเกินความจำเป็นของร่างกาย

ที่มา : thethaiger.com

ติดตามเรา

spot_img

Related Articles

PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com