Home สุขภาพ มะม่วง มีน้ำตาลสูงไหม ป่วยโรคไหนควรเลี่ยง

มะม่วง มีน้ำตาลสูงไหม ป่วยโรคไหนควรเลี่ยง

มะม่วงเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทว่าคนบางกลุ่มก็ควรต้องจำกัดปริมาณ หรือหากป่วยโรคบางอย่างก็ควรต้องเลี่ยงการรับประทานมะม่วงไปก่อน

ผลไม้อย่างมะม่วงเชื่อได้เลยว่าเป็นของโปรดของหลายคน เพราะมะม่วงสามารถกินได้หลายเมนู ทั้งแบบดิบเป็นมะม่วงมัน หรือมะม่วงสุกที่กินเปล่า ๆ ก็ได้ กินคู่กับข้าวเหนียวมูนก็กลายเป็นข้าวเหนียวมะม่วงแสนอร่อย หรือบางท้องถิ่นก็แปรรูปเป็นมะม่วงกวน และสายคาเฟ่ก็คงเคยกินสมูทตี้มะม่วงและเค้กมะม่วงกันมาบ้าง แต่ต่อให้มะม่วงจะอร่อยขนาดไหน บางคนก็ควรอดใจเอาไว้ เพราะอาจกระทบกับสุขภาพได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว

มะม่วง มีน้ำตาลสูงไหม

มะม่วงจัดเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลในระดับกลาง โดยข้อมูลจากกรมอนามัยระบุว่า มะม่วงปริมาณ 100 กรัม จะมีน้ำตาลราว ๆ 11.3-18.8 กรัม ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และระดับความสุกของมะม่วงนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น

  • มะม่วงเขียวเสวยดิบ ขนาด 1/4 ผลกลาง (น้ำหนักส่วนที่กินได้ 70 กรัม) ให้พลังงาน 61 กิโลแคลอรี มีน้ำตาล 5 กรัม
  • มะม่วงเขียวน้ำดอกไม้สุก ขนาด 1/4 ผลกลาง (น้ำหนักส่วนที่กินได้ 65 กรัม) ให้พลังงาน 51 กิโลแคลอรี มีน้ำตาล 10 กรัม
  • มะม่วงอกร่องสุก ขนาด 1/4 ผลกลาง (น้ำหนักส่วนที่กินได้ 70 กรัม) ให้พลังงาน 69 กิโลแคลอรี มีน้ำตาล 9 กรัม

จะเห็นว่าหากผลสุกงอมมาก ปริมาณน้ำตาลก็จะยิ่งสูงขึ้นด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยบางโรคจึงควรระมัดระวังการบริโภคมะม่วง เพราะอาจกระทบกับสุขภาพได้

ป่วยโรคไหนไม่ควรกินมะม่วง

โรคเบาหวาน

ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้น อาจกินมะม่วงดิบ มะม่วงมันได้บ้าง ส่วนมะม่วงสุกไม่ควรรับประทาน แต่ถ้าอยากกินจริง ๆ ก็ควรจำกัดปริมาณการกินให้ไม่เกิน 1 ผลขนาดกลางต่อครั้ง และไม่ควรกินเกิน 2 ครั้งต่อสัปดาห์

ไขมันในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง

สำหรับคนที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ไขมันสูง การรับประทานมะม่วงอาจส่งผลต่อระดับไขมันในเลือดได้ โดยเฉพาะหากรับประทานมะม่วงสุก และกินพร้อมเมนูข้าวเหนียวมูน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยก็ควรเลี่ยง หรือถ้าอยากรับประทานจริง ๆ อาจกินมะม่วงแต่น้อย ครั้งละไม่เกิน 1 ผลขนาดกลาง และหลีกเลี่ยงการกินเมนูข้าวเหนียวมะม่วงด้วย

โรคอ้วน

ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนควรระมัดระวังการรับประทานมะม่วงเช่นกัน โดยเฉพาะการกินมะม่วงคู่กับเครื่องจิ้มอย่างน้ำปลาหวาน หริอกินมะม่วงพร้อมอาหารน้ำตาลสูงอย่างข้าวเหนียวมูน บิงซูนม หรือไอศกรีม เพราะเป็นเมนูที่ให้พลังงาน น้ำตาล และไขมันสูงเลยทีเดียว

โรคลำไส้แปรปรวน

ผู้ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวน หรือมีการขับถ่ายไม่ปกติ ท้องเสียง่าย ท้องผูกบ่อย ๆ หากต้องการกินมะม่วงควรจำกัดปริมาณ เช่น ครั้งละครึ่งผลขนาดกลาง เพราะเนื้อมะม่วงมีคาร์โบไฮเดรตชนิดย่อยยาก (FODMAP diet) ลำไส้ดูดซึมได้ไม่ดี จึงเพิ่มความเสี่ยงมีน้ำและก๊าซส่วนเกินในลำไส้เพิ่มขึ้นได้

โรคไต

ผู้ป่วยโรคไตจำเป็นต้องระมัดระวังอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง ซึ่งมะม่วงก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเฉพาะหากมะม่วงสุกงอม หรือมะม่วงดิบจิ้มน้ำปลาหวาน กะปิหวาน ก็จะยิ่งมีปริมาณโพแทสเซียมสูงขึ้น

โรคภูมิแพ้อาหารหรือแพ้ผลไม้

บางคนมีอาการแพ้อาหารหรือแพ้ผลไม้ แค่ได้กลิ่นมะม่วงก็รู้สึกพะอืดพะอม หรือมีอาการคันยิบ ๆ เกิดขึ้นแล้ว เพราะมะม่วงมีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ และยังมียางมะม่วงติดมากับผลด้วย ซึ่งก็อาจกระตุ้นอาการภูมิแพ้ ทำให้ปากบวม ลิ้นบวม มีผื่นขึ้นได้ ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการกินมะม่วงนะคะ

จริง ๆ มะม่วงก็มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพียงแต่ว่าเราควรกินมะม่วงในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนผู้ที่มีโรคประจำตัวก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำทางโภชนาการ ว่าควรกินมะม่วงอย่างไรให้ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ที่สำคัญก่อนจะกินมะม่วงทุกครั้งควรเลือกผลที่สดใหม่ ปลอดสารพิษ และล้างให้สะอาด

ที่มา : health.kapook.com

PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com
Exit mobile version