ผลการศึกษาล่าสุดบ่งชี้ว่านอกจากการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้วยังส่งผลดีต่อสมองและป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคซึมเศร้า
ทีมวิจัยอเมริกันเพิ่งเผยแพร่ผลลัพธ์จากกรณีศึกษาเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2567 ในวารสาร Journal of the American College of Cardiology ที่ระบุว่า การออกกำลังกายมีประโยชน์ในเชิงป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจและต้านโรคซึมเศร้า
ในการศึกษาครั้งนี้ได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ที่อยู่ในช่วงวัย 60 ปี จำนวน 50,000 คนจากธนาคารข้อมูลชีวภาพ Mass General Brigham Biobank โดยเป็นข้อมูลจากการตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับกิจกรรมทางกาย, ภาพการทำงานของสมองในระหว่างติดตามการทำกิจกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับความเครียด นอกจากนี้ยังมีบันทึกระบบดิจิทัลของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ
ดร.อาห์เมด ทาวาโคล หทัยแพทย์จากโรงพยาบาล Mass General และรองศาสตราจารย์จาก Harvard Medical School เมืองบอสตัน ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยครั้งนี้กล่าวว่า คนที่ออกกำลังกายมากกว่าจะลดระดับสัญญาณที่บ่งชี้ว่าสมองอยู่ในภาวะเครียดได้ นอกจากนี้ ยังพบว่าการออกกำลังกายมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ เนื่องจากช่วยลดสัญญาณที่บ่งบอกความเครียดของสมอง
ไม่เพียงเท่านั้น ทาวาโคล และทีมของเขาทำการศึกษาวิจัยเพราะต้องการรู้ว่า คนที่มีสัญญาณบ่งชี้ภาวะสมองเครียดมากกว่าคนอื่น ๆ จะได้รับประโยชน์จากการออกกำลังกายมากกว่าด้วยหรือไม่
พวกเขาค้นพบด้วยความประหลาดใจว่าการออกกำลังกายนี้ให้ประโยชน์ต่อผู้ที่มีอาการซึมเศร้ามากกว่าผู้ไม่มีอาการหรือไม่มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 2 เท่า
นอกจากนี้ ระดับของประโยชน์จากการออกกำลังกายที่ช่วยลดอัตราความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจยังแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้น ๆ เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนหรือไม่
สำหรับคนที่ไม่เคยมีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ประโยชน์จากการออกกำลังกายในแง่ของการลดอัตราเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจจะหยุดนิ่งเมื่อถึงระดับหนึ่ง หลังจากการออกกำลังกายระดับกลาง ๆ ราวสัปดาห์ละ 300 นาที แต่ในกลุ่มของผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว ประโยชน์ส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนเวลาที่ได้ออกกำลังกาย
ทาวาโคล กล่าวว่า ประโยชน์ในแง่ดังกล่าวเป็นส่วนที่เพิ่มขึ้นมานอกเหนือไปจากประโยชน์อื่น ๆ ในเชิงจิตวิทยา
“เรารู้ว่าโรคซึมเศร้าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจ และมันยังเป็นหนึ่งในภาวะที่เกี่ยวข้องกับความเครียดที่พบมากที่สุด” ดร.คาร์เมล ชอบ นักจิตวิทยาและรองศาสตราจารย์จาก Harvard Medical School และโรงพยาบาล Massachusetts General ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยครั้งนี้ ชี้แจงว่า แม้บางคนอาจไวต่อความเครียดและผลที่ตามมาในเชิงสุขภาพมากกว่าคนอื่นๆ แต่พวกเขาอาจได้รับประโยชน์มากขึ้นจากการออกกำลังกายและระดับสัญญาณบ่งบอกภาวะเครียดที่ลดลงเพราะการออกกำลังกาย
ทาวาโคล กล่าวว่า การออกกำลังกายลดระดับสัญญาณความเครียดในสมองและช่วยเพิ่มระดับคลื่นสัญญาณของกลีบสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนที่รับผิดชอบเรื่องการคิดวางแผน ตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ และการเรียนรู้ที่มีส่วนในการควบคุมพฤติกรรม
สำหรับสัญญาณบอกภาวะเครียดในสมองนั้นมักเกี่ยวข้องกับภาวะอักเสบในร่างกาย, ระดับความดันโลหิตสูง, ระบบประสาทควบคุมการทำงานอัตโนมัติของอวัยวะในร่างกายที่มีระดับกิจกรรมเพิ่มสูงขึ้น และโรคต่าง ๆ ที่ส่งผลทำให้ผนังหลอดเลือดหนาขึ้นหรือแข็งขึ้น
เหตุผลที่การออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้ก็เพราะว่าช่วยลดสัญญาณแห่งภาวะเครียดในสมองเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม การค้นพบครั้งนี้ยังเป็นเพียงข้อสรุปของการเชื่อมโยงระหว่างโรคและพฤติกรรม เนื่องจากเป็นผลที่ได้จากการสังเกตผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ไม่ใช่ผลจากกลุ่มทดลองโดยตรง จึงไม่สามารถยืนยันได้ว่า ประโยชน์ในแง่ของการลดอัตราเสี่ยงของโรคดังที่กล่าวมานั้น เป็นผลที่ได้จากการออกกำลังกายโดยตรงหรือมีกลไกอื่นใดในกระบวนการออกกำลังกายที่ทำให้เกิดประโยชน์ดังกล่าวขึ้น
ที่มา : edition.cnn.com