รู้ไว้! 5 เหตุผลที่ไม่ควรออกกำลังกายซ้ำๆ อยากเห็นผลต้องเลิกวนๆ

หลายคนพอพบการออกกำลังกายที่ใช่ ก็มักจะทำแบบเดิมซ้ำๆ ไม่สนใจการเล่นรูปแบบอื่นอีก

ไม่ว่าจะเป็นคนชอบวิ่งที่พอได้เห็นระยะทางของตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็จะอยู่แต่ในลู่ไม่ออกนอกเลน หรือคนที่ติดใจการยกเวท พอเห็นกล้ามเนื้อเฟิร์มๆแน่นๆชัดๆหลังจากเล่น ก็จะอัพแอนด์ดาวน์อยู่แต่ตรงนั้น ไม่เปลี่ยนไปเล่นโซนอื่น

ซึ่งในความจริงแล้ว การออกกำลังกายรูปแบบเดิมวนๆซ้ำๆ พอผ่านไปได้ระยะเวลาหนึ่งก็จะเริ่มไม่เห็นผลความเปลี่ยนแปลงแล้ว ต่อให้ออกกำลังกายเป็นชั่วโมงก็ไม่สะใจเหมือนก่อน เหมือนกับร่างกายหยุดพัฒนาไปเสียดื้อๆ

จึงไม่แปลกที่เรามักได้คนบ่นให้ฟังบ่อยๆว่า ออกกำลังกายก็หนัก เล่นก็สม่ำเสมอ แต่ทำไมน้ำหนักไม่ลดเหมือนช่วงแรกๆ?..

นั่นสิ..ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? แล้วมีวิธีใดที่จะทำให้เราทั้งสนุกกับการออกกำลังกาย และได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อเนื่องในระยะยาวด้วย

ครูดอน-ทนงศักดิ์ วงษาโสม Fitness Training and Development Manager จากฟิตเนส เฟิรส์ท ผู้เชี่ยวชาญด้านออกกำลังกายชื่อดัง ตอบข้อสงสัยไว้อย่างน่าสนใจ

“เมื่อออกกำลังกายตามโปรแกรมที่วางไว้อย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาหนึ่ง ร่างกายจะปรับตัวเพราะคุ้นเคยกับการใช้งานแบบนั้นแล้ว ดังนั้นจากเดิมที่ร่างกายกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อให้เกิดการเผาผลาญพลังงาน พอร่างกายชินกับการเคลื่อนไหวลักษณะนี้จนกล้ามเนื้อจำกลายเป็นการทำงานตามอัตโนมัติ จึงเกิดการเผาผลาญน้อยลง ทั้งๆที่ออกกำลังกายแบบเดิมในระยะเวลาเท่าเดิม ดังนั้นหลายคนจึงรู้สึกได้ว่าน้ำหนักลดยาก ไม่เหมือนช่วงแรกๆ”

ครูดอนให้ความรู้ พร้อมแนะนำบรรดาคนรักสุขภาพปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายให้หลากหลาย เพื่อความท้าทายและการพัฒนาร่างกายอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุผลทั้ง 5 ประการดังนี้

1.น้ำหนักสามารถลดลงต่อเนื่อง

เมื่อออกกำลังด้วยกิจกรรมเดิมไปนานๆ จะทำให้ใช้ร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและกล้ามเนื้อไม่ทำงานหนักเหมือนตอนที่เริ่มออกกำลังกายใหม่ๆ ไม่เผาผลาญพลังงานมากเหมือนก่อน ส่งผลให้น้ำหนักไม่ลดลงไปด้วย

ดังนั้นคนที่ต้องการลดน้ำหนักจึงควรปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มการออกกำลังกายรูปแบบใหม่ เพื่อท้าทายร่างกายให้ใช้งานแบบที่ไม่คุ้นชิน เมื่อร่างกายไม่ชินแล้วก็จะกลับมาทำงานหนักขึ้น และเผาผลาญพลังงานเพิ่มขึ้นอีกครั้ง ถึงกระนั้นก็ต้องดูแลใส่ใจเรื่องอาหารควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้การลดน้ำหนักได้ผล

2.ป้องกันการบาดเจ็บกล้ามเนื้อส่วนเดิม

คนที่ออกกำลังกายรูปแบบเดิมเป็นประจำย่อมใช้กล้ามเนื้อชุดใดชุดหนึ่งเคลื่อนไหวในรูปแบบซ้ำๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเอ็นเฉพาะส่วนได้ การปรับโปรแกรมหรือเข้าคลาสใหม่ๆ จะเปิดโอกาสให้เคลื่อนไหวในรูปแบบอื่น ใช้กล้ามเนื้อที่หลากหลายขึ้น ถือเป็นการพักกล้ามเนื้อส่วนที่ใช้งานเป็นประจำให้ฟื้นฟูกลับมาพร้อมสำหรับการออกกำลังแบบที่ชอบอีกครั้ง

3.สร้างกล้ามเนื้อส่วนอื่นให้แข็งแรงขึ้น

เวลาที่ถนัดหรือชอบการออกกำลังกายแบบหนึ่ง ร่างกายก็จะพัฒนากล้ามเนื้อและความสามารถในการใช้สำหรับการเคลื่อนไหวแบบนั้น แต่อาจจะทำให้ละเลยกล้ามเนื้อส่วนอื่นได้เหมือนกัน การทำกิจกรรมใหม่ๆจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนที่อ่อนแอให้แข็งแรง เตรียมความพร้อมสำหรับการทำกิจกรรมรูปแบบที่หลากหลาย และให้ผลดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วย

4.กระตุ้นการทำงานของสมอง

นอกจากการออกกำลังจะพัฒนาร่างกายแล้ว การฝึกซ้อมเพื่อให้เคลื่อนไหวและใช้งานร่างกายได้ตามต้องการนั้น ต้องผ่านการกระตุ้นเซลล์ประสาทจากสมอง แต่เมื่อเริ่มชำนาญหรือเคยชินแล้วร่างกายก็จะสามารถทำไปตามอัตโนมัติ การออกกำลังแบบอื่นหรือการเข้าคลาสใหม่ๆ จึงเป็นการท้าทายและจุดประกายสมองให้ทำงานเพิ่มขึ้นไปด้วย

5.กลับมาตื่นเต้นกับการออกกำลังกายอีกครั้ง

การวิ่งในเส้นทางเดิมๆ เล่นเครื่องมือชนิดเดิมๆ เข้าคลาสเดิมกับการทำท่าเดิม อาจทำให้การออกกำลังกายเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายจำเจ กลายเป็นหน้าที่เพื่อดูแลสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วย แค่เข้ามาทำให้ครบเซ็ตหรือนับเวลาถอยหลังรอให้ครบเวลาจะได้รีบกลับบ้านเท่านั้น
การปรับเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายที่ได้เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ได้พบเพื่อนกลุ่มใหม่ ถือว่ามีส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนุกและตื่นเต้นกับการออกกำลังกายอีกครั้ง

รู้แล้วก็ได้เวลาเปลี่ยนแปลงตนเอง หลุดจากวงโคจรกิจกรรมวนๆซ้ำๆ ตั้งแต่วันนี้เลย เพื่อเป้าหมายที่ฟิตสตรองอย่างยั่งยืน

ที่มา : www.khaosod.co.th

ติดตามเรา

spot_img

Related Articles

PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com