“นอนไม่หลับ” ปัญหาคุกคามสุขภาพ “ผู้สูงอายุ” ดีขึ้นได้ด้วย 8 วิธีนี้
อาการนอนไม่หลับเป็นอาการหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ บางคนเริ่มหลับยากมากขึ้น หรือนอนหลับแล้วตื่นเช้ามากเกินไป ส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้าจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิด และง่วงในระหว่างวัน อาการนอนไม่หลับยังอาจเป็นอาการเตือนของโรคอื่นๆทางสมองได้อีกด้วย
สัญญาณที่บ่งบอกถึงปัญหาการนอนไม่หลับ
- หลับยาก
- ตื่นกลางดึกบ่อย
- ตื่นเช้ามากเกินไป
- นอนหลับไม่สนิท
- รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลียระหว่างวัน
- อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
สาเหตุของอาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุ อาจเกิดจาก
- การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของร่างกาย ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน จึงส่งผลต่อการนอนหลับ กลไกการนอนหลับเสื่อมลง ทำให้หลับไม่สนิท ตื่นกลางดึกบ่อย
- ปัญหาสุขภาพจิต มีความเครียด วิตกกังวล หรือมีอาการซึมเศร้า
- โรคประจำตัวผู้สูงอายุอาจมีความเจ็บป่วยทางร่างกาย ทำให้ต้องตื่นขึ้นมาในตอนดึก แล้วหลับต่อได้ยาก
- ผลข้างเคียงจากยา การกินยาบางชนิดอาจทำให้นอนไม่หลับ
- สภาพแวดล้อม ห้องนอนไม่มืด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เตียงนอนไม่สบาย หรือมีเสียงรบกวน
- พฤติกรรม การนอนพักผ่อนมากเกินไปในตอนกลางวัน ดื่มชา กาแฟ ก็อาจเป็นสาเหตุให้นอนไม่หลับได้เช่นกัน
แล้วมีวิธีไหนบ้างที่ทำให้ผู้สูงอายุนอนหลับได้ดีขึ้น วันนี้เลยนำเคล็ด (ไม่) ลับสำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหานอนไม่หลับมาฝากกันค่ะ
- ควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา
- จัดสภาพแวดล้อมของห้องนอนให้ดี คือ มืด เงียบสงบ และอากาศถ่ายเทได้สะดวก
- หลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควรออกกำลังกายห่างจากเวลานอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายก่อนนอน เช่น ฟังเพลงเบาๆ นั่งสมาธิ
- ทานมื้อเย็นเป็นเวลาโดยกำหนดเวลาที่ชัดเจน และเน้นโปรตีน
- ก่อนนอนอาจดื่มนมอุ่นๆ จะช่วยให้หลับดีขึ้น
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ โดยเฉพาะตอนเย็น
การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ มีความสำคัญต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ หากลองปรับพฤติกรรมและปรับสภาพแวดล้อมแล้ว ยังมีอาการนอนไม่หลับอยู่ ควรพาผู้สูงอายุมาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุของการนอนไม่หลับอย่างละเอียดและรับการรักษาที่เหมาะสมดีที่สุด เพราะหากตรวจแล้วพบว่าอาการนอนไม่หลับเกิดจากโรคเกี่ยวกับสมองหรือโรคอื่นๆ จะได้รีบรักษาทันที
ที่มา : thaipr.net/health