เคล็ดลับการกินให้ห่างไกลมะเร็ง
1.กินผักหลากสีทุกวัน
สีสันของผักนอกจากจะดูสวยงามแล้ว ผักแต่ละชนิดยังมีปริมาณและชนิดของไฟโตนิวเทรียนท์แตกต่างกันออกไปตามสีของผัก ดังนั้น การกินผักให้หลากหลายหรือกินผักให้ครงทั้ง 5 สีจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพ
สารสีแดง เช่น มะเขือเทศ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า “ไลโคปีน” ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งปอด
สารสีเหลือง / ส้ม เช่น ฟักทอง แคร์รอต มีสารต้านอนุมูลอิสระ “แคโรทีนอยด์” และอุดมไปด้วยวิตามินที่สามารถต้านการเกิดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย
สารสีเขียว เช่น คะน้า บรอกโคลี อุดมไปด้วยวิตามินซี รวมถึงผักบุ้ง กวางตุ้ง ตำลึง ซึ่งมีวิตามินเอ
สารสีม่วง เช่น กะหล่ำสีม่วง มะเขือม่วง พืชผักสีม่วงเหล่านี้มีสาร “แอนโทไซยานิน” ซึ่งจะช่วยยับยั้ง สารก่อมะเร็ง
สารสีขาว เช่น ผักกาดขาว มะเขือเปาะ ดอกแค โดยเฉพาะยอดแค มีสาร “เบต้าแคโรทีน” สูงซึ่งมีคุณสมบัติในการกำจัดสารอนุมูลอิสระ
2.รับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ
ผลไม้ประกอบด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งมีเส้นใยอาหารที่ช่วยระบบย่อยอาหาร ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างปกติ เช่น ส้ม สับปะรด และมะม่วง ที่มีทั้งวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง หรือมะละกอที่มีทั้งวิตามินเอ บี และซี ที่ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานปกติลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้เช่นกัน
3.ประกอบอาหารธัญพืชและเส้นใย
ธัญพืชเต็มเมล็ดคือธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อยที่สุด ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโพด ลูกเดือย เป็นต้น ธัญพืชประเภทนี้จะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น วิตามิน แร่ธาตุ ไฟโตนิวเทรียนท์ เส้นใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆนอกจากนี้ใยอาหารในธัญพืชยังทำหน้าที่สำคัญในการพาสารต่างๆที่เป็นโทษต่อร่างกายซึ่งเกาะติดบริเวณลำไส้ให้ขับถ่ายออกไป จึงมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งในทางเดินอาหารและมะเร็งในลำไส้ใหญ่
4.ใส่เครื่องเทศเสริมรสชาติอาหาร
เครื่องเทศหมายถึงส่วนต่างๆของพืชที่นำมาใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหารหรือเพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอมและยังมีสรรพคุณลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง
5.เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ
โดยการดื่มเครื่องดื่มธรรมชาติซึ่งนำมาจากส่วนต่างๆของพืช เช่น “ชาเขียว” ที่เต็มไปด้วยสาร EGGC ซึ่งมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดเซลล์มะเร็ง เป็นต้น
6.ปรุงอาหารอย่างถูกวิธี
เช่น ไม่ปิ้งย่างอาหารประเภทเนื้อสัตว์จนไหม้เกรียม ไม่กินอาหารสุกๆ ดิบๆ หรือไม่ใช้น้ำมันทอดอาหารหลายครั้ง
7.ลดการบริโภคเนื้อแดง
เนื่องจากเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้และทวารหนัก มะเร็งเต้านม และโรคอ้วน
8.เกลือแกง
อาหารหมักดองต้องน้อยลง โซเดียมพบมากในเนื้อเค็ม ปลาเค็ม และผลไม้ดองมีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการต่างๆในร่างกายแต่หากได้รับปริมาณที่มากเกินไปก็จะเป็นโทษต่อร่างกายได้เช่นกัน
9.หลีกหนีอาหารไขมัน
โดยเฉพาะอาหารประเภทที่มีกรดไขมันอิ่มตัวซึ่งพบมากในอาหารที่มาจากเนื้อสัตว์และน้ำมันที่ได้จากพืชบางชนิด เช่น เนย ไขมันสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว และน้ำมันปาล์ม
ที่มา : vibhavadi.com/Health